เล่าสู่กันฟัง ประสบการณ์ทำฟันที่จังหวัดชายแดน

สวัสดีครับพบกับ DragCura Podcast ครับ

สวัสดีครับ ผมหมอเป็บ เป็นทันตแพทย์อยู่ที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย ครับ

วันนี้เรา จะมาพูดคุยเรื่องการทำฟันที่ต่างจังหวัดกันครับ

สำหรับพื้นที่ด่านซ้าย เป็นพื้นที่ชนบทไม่ใช่ตัวเมืองใหญ่ ก่อนหน้านี้ผมจบมาสองปี ก็มาใช้ทุนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่ชายแดนเช่นกัน แล้วก็ย้ายมาพื้นที่ด่านซ้าย

การทำฟันที่ หรือการทำทันตกรรมต่างๆ มีความแตกต่างอย่างไรกับการทำให้คนในเมืองไหม?

จริงๆ แล้ววิธีการทำฟันไม่ได้แตกต่าง มีการทำหลายอย่าง เช่นทำครอบฟัน อุดฟัน ถอนฟัน เราสามารถทำได้แล้วแต่คนไข้มีความต้องการอย่างไร  เพียงแต่ในบางพื้นที่อาจจะไม่ได้มีหมอเยอะ หรือหมอเฉพาะทางอย่างการทำฟันปลอม รักษารากฟัน และอื่นๆอีกมากให้เลือกเยอะ เหมือนอย่างในตัวเมือง หรือ กทม. ไม่ใช่ว่าหมอมีความเก่งน้อยกว่ากัน จริงๆแล้วก็เก่งในระดับเดียวกัน เพียงแต่ในบางพื้นที่มีหมอเฉพาะทางน้อยกว่า

เคสที่เจอบ่อยที่สุดของการทำฟันในพื้นที่ต่างจังหวัด

ส่วนใหญ่มีอยู่สองเรื่องหลัก ๆ ซึ่งที่จริงแล้วคนเป็นกันทั่วประเทศ ก็คือฟันผุ และโรคปริทันต์อักเสบ และงานที่ได้ทำบ่อยก็คือการถอนฟัน ตอนนี้ถอนเยอะจนชำนาญ

ระหว่างถอนฟันกับอุดฟัน เคสไหนเยอะกว่ากัน

ผมว่าถอนฟันเยอะกว่า การอุดฟัน ซึ่งการฟันผุในระยะแรก ๆ ยังไม่ถึงขั้นมีอาการปวด พอที่จะทนได้ แต่เท่าที่ผมเจอมา แม้ไม่ได้มีงานวิจัยรองรับ แต่จากประสบการณ์โดยตรง คนส่วนใหญ่มักจะมาตอนที่ปวดฟันแล้ว หรือผุจนเหลือแต่ตอฟันเท่านั้น ในเคสหลังนี้ยังไงก็ต้องถอนออก เพราะแทบไม่เหลือเนื้อฟันแล้ว 

สำหรับกรณีที่ฟันผุ ยังสามารถรักษาคลองรากฟันได้ เอาเชื้อโรคที่อยู่ในรากฟันออกมา เพียงแต่ว่าการรักษาแบบนี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าคิดในแง่ของคนที่อยู่พื้นทีชนบทไกลออกไป ซึ่งไม่ได้มีคลินิกเยอะแบบใน กรุงเทพฯ โรงพยาบาลในชุมชนอาจจะไม่มีหมอทำรากฟันเทียม หรือทำฟันปลอมที่มีความซับซ้อนมากๆ ต้องส่งเข้ามาในเมือง ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง

เมื่อคิดรวมถึงจำนวนครั้งในการรักษา รวมถึงการเดินทางแล้ว บางทีคนไข้อาจจะคิดว่า สู้ถอนฟันออกไปเลย หายปวดและไม่เจ็บ

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ “สิทธิ์การรักษาฟัน” ของรัฐ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะมาทำฟันแบบไม่เสียเงิน ทั้งอุดฟัน ผ่าฟันคุด โดยใช้สิทธิพื้นฐานตรงนี้ บางที่อาจจะมีค่าใช้ร่วมด้วย อย่างสิทธิบัตรทอง 30 บาทเป็นต้น แต่สำหรับกรณีการรักษารากฟัน สิทธิบางอย่างไม่ได้ครอบคลุมด้วย หรืออย่างประกันสังคม ที่ได้ปีละ 900 บาท ถ้าจะรักษารากฟันก็ต้องจ่ายเพิ่ม

สำหรับชาวบ้านเองที่ใช้สิทธิการรักษาเยอะ ถ้าให้เลือกระหว่างทำฟันฟรี และไม่ต้องมาบ่อย ๆ หายปวดทันทีเลย กับต้องมารักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และต้องเสียเงินเองเยอะ ถ้าคิดถึงบริบทต่างๆ แล้ว อาจจะทำให้เขาคิดว่าถอนฟันไปเลยดีกว่า เรื่องฟันปลอมค่อยว่ากัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนตัวจากประสบการณ์ของผม แต่คนที่มารักษารากฟันก็มีบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มีเลย

จริงๆ แล้วก่อนที่เราจะทำฟันทุกครั้ง เราก็จะอธิบายเสมอว่ามีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง จะถอนฟันเลย หรือเก็บฟันเอาไว้ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วให้คนไข้เป็นผู้ตัดสินใจ

การที่คนไข้ในพื้นที่ต่างจังหวัดถอนฟันบ่อย เราอาจจะมองได้ไหมว่า การไปตรวจฟันทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันเหตุฟันผุ เป็นเรื่องลำบากสำหรับพวกเขาด้วยเช่นกัน

ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้มีอุปสรรคเช่นกัน จริงๆไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ต่างจังหวัด อย่างเราเองแม้จะรู้ว่าต้องไปตรวจฟันทุก 6 เดือน หรือตรวจสุขภาพประจำปี เราเองยังไม่ค่อยจะไปตรวจเลย

อีกอย่างที่ต้องยอมรับก็คือ ระบบโรงพยาบาลของรัฐที่ต้องไปรอคิวแต่เช้ามาก ๆ กว่าจะได้ตรวจฟันก็ใช้เวลานาน ทำให้บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยกับการไปตรวจฟันประจำ จึงทำให้เลือกที่จะมาตอนที่มีอาการ ปวดแล้ว รวมถึงเรื่องการเดินทางไกลก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน แม้ว่าจะตรวจฟันฟรี แต่ว่าการเดินทางที่ต้องเสียค่ารถ รวมถึงการเสียโอกาสทำงาน ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ไปตรวจฟันได้

หรือว่าบางทีแล้ว ลองนึกถึงความต้องการพื้นฐานของคนชนบท อย่างเรื่องการดำรงชีวิต หรือที่อยู่อาศัย ยังไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีพอ เลยยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องของฟัน หรือให้เป็นเรื่องระดับรองลงมา สำหรับคนในเมืองหลวงบางคนอาจจะมองการทำฟันเป็นเรื่องความสวยงามด้วย แต่สำหรับชาวบ้านพื้นที่ห่างไกลบางคน อาจจะมองเป็นเรื่องการใช้งาน ถ้ายังไม่ปวด หรือยังพอทนได้ ก็ทนไปก่อน ไว้ทนไม่ได้ค่อยไปหาหมอ

ในแต่ละพื้นที่จะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ปกติแล้วมีบริการตรวจฟันหรือไม่

จริงๆ แล้วในแต่ละตำบลจะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 แห่ง บางที่จะมีหน่วยที่ตรวจฟัน และมีทันตาภิบาล ที่แม้ไม่ใช่ทันตแพทย์ แต่ก็มีการเรียนรู้ 4 ปี สามารถทำฟันง่ายๆ อย่างอุดฟัน ขูดหินปู ถอนฟันน้ำนม โดยมีบทบาทส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เน้นงานป้องกันก่อนที่จะผุอย่างรุนแรงนั่นเอง แต่จะรักษาแบบกรณีที่ซับซ้อน

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทุกที่จะมีเก้าอี้ทำฟัน หรือหน่วยนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบของตัวอำเภอนั้น ๆ ว่าจะมีการจัดการอย่างไร แม้ว่าบางที่ไม่มีที่ตรวจฟัน แต่ก็จะมีการออกหน่วยลงพื้นที่ตรวจฟันให้เป็นประจำ เช่นเดือนละครั้ง เป็นต้น

จริงๆ แล้วคนที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ถือเป็นผู้ช่วยที่สำคัญ ของการส่งเสริมสุขภาพในช่องปากของชาวบ้าน ตามพื้นที่ต่างๆ ลองนึกภาพว่าเมื่ออยู่ใกล้ชาวบ้านมากขึ้น คนก็อยากจะเข้ามามากขึ้นเพราะความสะดวก แม้ว่าในโรคพยาบาลใหญ่จะมีอุปกรณ์อำนวย หรือบุคลากรมากกว่า แต่ถ้าต้องรอนานคนก็ไม่ค่อยอยากจะมาแน่นอน

อุปสรรคที่ทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยตรวจฟันก็คือ ขั้นตอนที่รอนาน ระยะเดินทาง รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแห่งไม่ได้มีหน่วยที่พร้อมตรวจฟันทุกวัน เรากล่าวได้ไหมว่า การเข้าถึงการตรวจฟันพื้นฐานนั้นยุ่งยากพอสมควร

ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ยุ่งยาก ยุ่งยากในที่นี้หมายถึงการเข้าถึงการตรวจ การเดินทาง เมื่อเทียบกับในกรุงเทพ แต่ก็ต้องบอกว่า ขณะนี้ก็ดีกว่าแต่ก่อน อย่างน้อยๆ เรามีบัตรทองที่ตรวจฟันฟรี เมื่อก่อนต้องเสียเงิน  รวมทั้งทันตาภิบาลประจำตำบล เรียกว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็๋ยังมีบางจุดที่ต้องพัฒนาบ้าง

ถ้าเราอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ เราก็จะเห็นได้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขมีงานเชิงรุกให้เราทำ ไม่ใช่แค่รอคนไข้ไปหาที่โรงพยาบาลอย่างเดียว อย่างการออกหน่วยลงพื้นที่ต่างๆ รวมถึงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เราเชื่อว่าถ้าเราดูแลตั้งแต่ต้น ฟันก็จะดีตั้งแต่เริ่ม อย่างการไปเคลือบร่องฟันให้เด็กๆ เป็นต้น

หลังจากที่เราทำฟันให้กับคนไข้ ได้มีการให้ความรู้เรื่องการดูแลฟัน เพื่อที่เขาจะดูแลซี่อื่นๆ หรือไม่?

จริงๆ เราก็พูดบ่อยมาก แต่อาจจะไม่ได้อธิบายละเอียดมาก เพราะว่าในหนึ่งวันนั้นคนไข้ถือว่าแน่นมาก จะพูดนานคนไข้ที่รอต่อคิวก็อาจจะรอนานขึ้น หรือมีเวลาทำฟันน้อยลง อีกอย่างเราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะอยากฟันรายละเอียดนานขนาดนั้น แต่เราก็พยายามบอกอยู่เหมือนกัน บางครั้งก็เกรงใจเหมือนกันถ้าเจอเคสที่เป็นผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็นเด็กเราจะพูดเยอะหน่อย และให้พ่อแม่มาฟังด้วย เพื่อการดูแลรักษาฟันต่อไป

อาจจะถามว่าแปรงฟันอย่างไร ใช้ยาสีฟันอะไร และเรื่องที่สำคัญคือการทานขนมบ่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้ห้าม แต่ว่าจะกินอย่างไรให้ฟันไม่ผุ ทานเป็นเวลา ไม่กินจุบจิบ เป็นต้น

มีข้อแนะนำอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านหันมาดูแลฟันให้ดีกว่าเดิมได้

สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัด ผมว่าความรู้แบบที่เราพูดๆกัน ฟังแล้วอยากทำตาม หรือคิดว่าทำได้ แต่สำหรับพวกเขาแล้วอาจจะมีหลายปัจจัยที่เราต้องคิด ซึ่งวิธีการที่ทำให้ยั่งยืนก็คือการทำวิธีการเชิงรุกมากขึ้น เช่นว่า ทำไมบ้านนี้ถึงมีเด็กฟันผุเยอะ เราก็ต้องไปคุยว่าที่บ้านเขาเป็นอย่างไร อาจต้องถึงขั้นเยี่ยมบ้าน เราอาจจะพบว่าที่ฟันผุบ่อยเป็นเพราะอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งเคสเหล่านี้พบบ่อยเช่นกัน ด้วยความที่พ่อแม่ทำงานในเมือง หรือที่ต่างจังหวัด บางทีปู่ย่าตายายไม่ได้แปรงฟันให้เด็ก ๆ เป็นประจำ ซึ่งเราไปว่าเขาก็ไม่ได้ ลองนึกภาพของผู้สูงอายุ มาจับเด็กวัยซนแปรงฟัน แถมบางครั้งเด็กๆก็ร้องไห้ เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เราก็จะเห็นปัญหาบางอย่างที่เราพอจะช่วยเขาได้ในบริบทที่เขาเป็นอยู่ ให้เขาดูแลฟันที่ดีโดยที่ไม่เสียสมดุลชีวิตในด้านอื่นๆด้วย 

ถ้าหากเราได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านแล้ว  เราจะเห็นภาพของชุมชน ซึ่งข้อดีที่น่าสนใจก็คือในพื้นที่ชนบทจะมีความใกล้ชิดกันเยอะ มีความผูกพันในชุมชนเล็ก ๆ ใครเป็นอะไรมาก็รู้กันหมด ด้วยความเข้มแข็งนี้ทำให้เราสามารถทำอะไรบางอย่างได้ ถ้าเรามีไอเดีย เช่นเราเห็นว่าหลาย ๆ คนในหมู่บ้านมีปัญหาเดียวกันแบบนี้ ก็ต้องประชุม หรือจัดประชาคมเพื่อหาวิธีป้องกันฟันผุเป็นต้น

จริง ๆ ส่วนตัวอยากขยายว่า ถ้าเป็นเรื่องของชุมชน เราอาจจะต้องดึงปัญหาอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเรื่องฟันอย่างเดียวอาจจะไม่สำคัญพอ เช่นอาจจะชี้ให้เห็นว่าฟันผุแล้วเด็กปวดฟันไปเรียนไม่ได้ เป็นต้น จริงๆแล้วเราจะทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ทั้งหมอ และนักวิชาการ รวมถึงคนในชุมชน เราจะชี้ถึงปัญหาต่างๆ ถ้าเรามีความเป็นตรงกัน เราก็จะช่วยกันได้

ยกตัวอย่าง เราอาจจะเห็นว่าที่เด็กฟันผุเยอะ ก็เพราะว่ากินขนมเยอะ เราอาจจะไปคุยกับร้านค้าในชุมชนว่าจะทำอย่างไร หรือขายเป็นเวลา หรือเก็บให้สูงๆ ให้เด็กเล็กหยิบยาก แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เราไปสั่งเขา แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือด้วยกัน ชุมชน คนในพื้นที่ช่วยกันคิด และบอกว่าจะทำอะไรด้วย ส่วนตัวมองว่าวิธีการแบบนี้เหมาะกับพื้นที่ชุมชนในต่างจังหวัด ซึ่งจะยั่งยืนกว่าการแค่ไปให้ความรู้อย่างเดียวเท่านั้น ต้องทำควบคู่กันไป

แต่ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวลำพังแค่ทันตแพทย์ทำอย่างเดียวก็คงไม่ได้ แต่ต้องอาศัยชุมชน และความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะนักคิด นักเขียน กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ หรือคนตัดต่อวีดีโอ ไม่ว่าสายอาชีพไหนเราก็ช่วยกันได้

ถ้าเราจะผลักดันเรื่องของฟันได้ เราอาจจะต้องผลักดันเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของคนต่างจังหวัดให้มากขึ้น กระจายทุนให้จัดสรรกันได้ดีขึ้น อย่างในกรณีที่คนในชุมชนเห็นว่าต้องมีบ่อน้ำในหมู่บ้าน เขาก็จะมีการระดมทุน อย่างผ้าป่า ซึ่งช่วยได้เยอะ บางพื้นที่สร้างห้องทำฟันในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้ด้วยเงินจากผ้าป่าก็มี ซึ่งเรื่องนี้อาจจะช่วยให้โรงเรียนมีอาหารกลางวัน หรืออ่างแปรงฟันได้ด้วย

การที่จะทำให้ชาวบ้านตระหนักเรื่องของการดูแลฟันได้ ต้องพูดถึงทุกภาคส่วน ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของพวกเขาก่อน จากนั้นเขาก็จะสนใจเรื่องของฟันได้

เรื่องของการทำฟัน ถ้าทำในโรงพยาบาลอย่างเดียว บางคนก็เคยบอกว่าเหมือนวงจรอุบาทว์ อุดฟันแล้วยังทานแบบเดิม ก็ผุอีกถอนฟัน แล้วใส่ฟันปลอมวนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จึงต้องอาศัยการป้องกัน ซึ่งการให้ความรู้ก็เป็นการป้องกันชั่วคราวเท่านั้น แต่ต้องทำพร้อมกันทุกภาคส่วนไปด้วยกัน ถ้าจะให้ยั่งยืน ทำฝ่ายใดฝ่ายนึงคงไม่ไหวแน่นอน