มีกิจกรรมอยู่ไม่กี่อย่างบนโลกนี้ ที่มนุษย์เราทำคล้ายๆ กันทุกวัน  หนึ่งในนั้นคือการ ‘แปรงฟัน’ ที่นอกจากจะทำทุกวันแล้ว บางคนยังทำวันละหลายๆ ครั้งด้วย เพราะมาตรฐานทางการแพทย์โดยสากลมักจะแนะนำให้คนเราแปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง เพื่อเป็นการทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดเอี่ยม

แต่ถ้าเราบอกว่า การแปรงฟันของคุณ ไม่ว่าจะแปรงกี่ครั้งต่อวันก็ตามแต่ ยังไงก็ไม่มีทางทำความสะอาดได้ครบถ้วนอยู่ดีล่ะ! เพราะในช่องปากของคนเรามีพื้นที่ที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึงอีกมากมาย และเต็มไปด้วยแบคทีเรียหลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ทั้งบนผิวฟัน ซอกฟัน เหงือก กระพุ้งแก้ม ลิ้น และเพดานปาก แต่แบคทีเรียเหล่านี้โดยปกติแล้วก็ไม่ได้มีพิษภัยอะไร เพราะพวกมันก็มีทั้งคุณและโทษ

แต่ประเด็นก็คือ ถ้าเราดูแลช่องปากตัวเองได้ไม่ดี จากแบคทีเรียที่มองไม่เห็น มันจะค่อยๆ รวมตัวสะสมกันเกิดเป็น ‘คราบพลัค’ หรือ คราบจุลินทรีย์ เหมือนแผ่นฟิล์มเหนียวๆ เกาะในช่องปากของเรา จากนั้นถ้าเรายังไม่จัดการกับมันให้ดี มันจะพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นจนกลายเป็น ‘หินปูน’ ที่เป็นต้นตอของโรคมากมายในช่องปาก เช่น โรคเหงือก ฟันผุ กลิ่นปาก เป็นต้น

มีใครแปรงฟันเช้า-เย็น ครั้งละนานๆ จนมั่นใจว่าฟันเราสะอาดเป็นแน่แล้ว แต่พอไปหาหมอฟัน ก็ยังตรวจเจอฟันผุอยู่บ้าง? สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการแปรงฟันทุกวันถึงแม้จะนาน บางทีก็ยังกำจัดเหล่าแบคทีเรียออกไปได้ไม่หมด มา! เราจะอธิบายให้ฟังว่าแปรงสีฟันจริงๆ แล้วมีหน้าที่อะไร แล้วเราจะเพิ่มประสิทธิภาพการแปรงด้วยวิธีไหนได้บ้าง

แปรงสีฟันเป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ในการดูแลช่องปาก

บทบาทหน้าที่หลักของแปรงสีฟันคือการกำจัดคราบพลัคที่เกาะตามฟันของเราออกไป เพราะเจ้าคราบนี้นี่แหละคือสาเหตุของกิจกรรมมนุษย์ที่จะต้องมานั่งแปรง ขัด ถู บนผิวฟันทุกๆ วัน แต่ข้อจำกัดของแปรงสีฟันก็คือรูปร่างหน้าตาของมัน ที่ทำให้มันสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างจำกัด เคยมีประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอนามัยออกมาว่า “การแปรงฟัน สามารถทำความสะอาดฟันได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น”

ซ้ำร้ายบางคนยังแปรงฟันแบบรีบๆ และไม่ถูกหลักการ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประสิทธิภาพในการกำจัดคราบพลัคของแปรงสีฟันก็จะลดลงไปอีก สิ่งที่สำคัญจึงเป็นการดึงความสามารถของแปรงออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้ 70 เปอร์เซ็นของฟันถูกทำความสะอาดอย่างครบถ้วน

เริ่มจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดก่อน อย่างการ ‘จับแปรง’ วิธีจับแปรงที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือการจับแปรงโดยการทำมุม 45 องศากับฟัน เพราะด้วยองศานี้จะทำให้แปรงสามารถซอกซอนไปยังพื้นที่มุมอับอย่างบริเวณร่องเหงือกได้ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับแปรงทำความสะอาดฟัน ในทิศทางเป็น ‘วงกลม’ ทีละซีก ซึ่งการแปรงเป็นวงกลมแบบนี้ จะช่วยให้เราแปรงได้ ‘ช้าลง’ แต่ ‘ทั่วถึง’ มากขึ้น โดยมีงานวิจัยในต่างประเทศช่วยยืนยันว่า การแปรงด้วยวิธีนี้ สามารถยกระดับประสิทธิภาพในการทำความสะอาดช่องปากได้เป็นอย่างดี

แต่ถึงแม้เราจะรีดเร้นพลังจากแปรงสีฟันมาได้มากแค่ไหน มันก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดช่องปากได้ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี เราจึงต้องมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเข้าไปทำความสะอาดในพื้นที่อื่นๆ ที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง

ยาสีฟัน

เนื้อคู่ของแปรงสีฟันคือยาสีฟัน ยาสีฟันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดูแลรักษาฟันของเรา เพราะเมื่อแปรงทำหน้าที่ปัดกวาดคราบแบคทีเรีย ยาสีฟันก็จะช่วยเติมสารที่จำเป็นต่างๆ ในการดูแลฟัน เช่น สารทำความสะอาด หรือ ฟลูออไรด์ เป็นต้น แต่ยาสีฟัน ‘ที่ดี’ และแตกต่างจากยาสีฟันทั่วๆ ไปควรจะต้องปราศจากสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น สาร SLS ซึ่งเป็นสารก่อฟอง พาราเบน(Paraben) หรือ กลูเต็น(Gluten) เป็นต้น เมื่อพื้นฐานไม่มีอันตรายแล้ว ประโยชน์จากยาสีฟันที่เราควรได้รับคือการทำความสะอาดที่ยอดเยี่ยม พร้อมๆ กับการบำรุงเหงือกและฟันในเวลาเดียวกัน

ที่เก็บแปรงสีฟัน

ห้องน้ำคือแหล่งรวมเชื้อโรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบ้าน ด้วยเหตุนี้การเก็บแปรงสีฟันโดยการวางไว้ขอบอ่าง ใส่ในแก้วน้ำ แล้วตากอากาศในห้องน้ำอย่างเปลือยเปล่า ก็อาจจะทำให้เหล่าแบคทีเรียที่ล่องลอยในพื้นที่เข้ามาเกาะเกี่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เก็บแปรงสีฟัน จึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดูแลรักษาแปรงสีฟันของเรา แต่! ลักษณะของที่เก็บแปรงที่ดีคือจะต้องมีช่องระบายอากาศเพื่อให้ขนแปรงสามารถแห้งได้อย่างรวดเร็ว และหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย ก็จะเข้าขั้นเพอร์เฟกต์

อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน

เมื่อดูแลรักษาแปรงดีแล้ว อุปกรณ์เสริมเพื่อทำความสะอาดพื้นที่อีก 3 ใน 4 ของช่องปากคือสิ่งจำเป็น ตัวการหลักที่มักจะเป็นแหล่งซ่องสุมของคราบแบคทีเรียทั้งหลายคือ ‘ซอกฟัน’ ในห้องน้ำหรืออ่างล้างหน้าของคุณจึงควรมีอุปกรณ์ที่สามารถซอกซอนทำความสะอาดซอกฟันโดยเฉพาะติดไว้อย่างน้อยหนึ่งชิ้น ไม่ว่าจะเป็น แปรงซอกฟัน’ ‘ไหมขัดฟัน’ หรืออย่างน้อยๆ ก็คือ ไม้จิ้มฟัน

ที่ทำความสะอาดลิ้น

ในมนุษย์ปกติทั่วไปจะมีปุ่มรับรสราวๆ 10,000 ปุ่มกระจายอยู่ทั่วลิ้น ปุ่มเหล่านี้คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราได้รู้จักคำว่าอร่อย และเป็นตัวช่วยให้อาหารทุกๆ มื้อเต็มไปด้วยรสชาติ แต่ขณะเดียวกันปุ่มเหล่านี้ก็แฝงไว้ด้วยแบคทีเรียจำนวนไม่น้อยกว่าที่เกาะอยู่บนฟัน และเมื่อมันสะสมมากเข้าก็จะเกาะกับเป็นแผงฟิล์มสีขาวๆ ส่งผลให้อาจมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้ ถ้าไม่เชื่อ ลองใช้วิธี ‘เช็คกลิ่น’ โดยการลองเอาลิ้นเลียไปที่หลังมือตัวเอง จากนั้นทิ้งไว้สักพักให้แห้งแล้วลองดมดู นั่นแหละคือกลิ่นปากที่แท้จริงของคุณ…(ยังอยู่ดีกันไหมนะทุกคน)

แบคทีเรียที่เกาะกันอยู่บนลิ้นเหล่านี้ หากดูเผินๆ อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ร้ายแรงต่อลิ้น แต่ทว่ามันสามารถสร้างความรำคาญ และลุกลามไปก่ออันตรายให้กับส่วนอื่นของช่องปากได้ เช่น เรื่องของกลิ่นปาก การรับรสชาติที่แย่ลง ไปจนถึง โรคเหงือก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการทำความสะอาดลิ้นทุกครั้งหลังแปรงฟันจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะกำจัดแผงแบคทีเรียเหล่านี้ออกไป และอุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้านไว้คือเครื่องมือ ‘แปรงลิ้น’ ที่ออกแบบมาสำหรับการทำความสะอาดลิ้นโดยเฉพาะ

DragCura Curate ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นด้วย “คุณภาพ”

เพราะว่าการแปรงฟันอย่างเดียวมันไม่พอจริงๆ DragCura จึงได้จัดเซ็ตรวบรวมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำความสะอาดช่องปากให้คุณได้มาเลือกสรรตามความต้องการ โดยในเซ็ตจะยืนพื้นด้วยแปรงสีฟัน CURAPROX รุ่น CS 5460 จากสวิตเซอร์แลนด์ที่มีขนแปรงกว่า 5,460 เส้น และยาสีฟัน CURAPROX [BE YOU.] หลากหลายกลิ่น ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงเหงือกและฟัน รวมถึงปราศจากสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ นอกจากนี้ก็มีที่เก็บแปรงสีฟันทั้งรูปแบบพกพาหรือติดผนัง เพื่อการเก็บรักษาแปรงให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา

นอกเหนือไปจากอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการแปรงฟันแล้ว เราอยากเปิดโอกาสให้คุณได้ ‘ร่วมจัดเซ็ตอุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปาก’ ชิ้นอื่นๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ไหมขัดฟัน ที่แปรงลิ้น แปรงซอกฟัน และไม้จิ้มฟันถนอมเหงือก ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่อยู่ในร้านของเรา ได้รับการ ‘Curate’ หรือ คัดสรร มาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้คุณสามารถมั่นใจในประโยชน์และคุณภาพของสินค้าทุกชิ้นจาก DragCura

ไม่ว่าคุณกำลังมองหาเซ็ตดูแลช่องปากให้กับตัวเองหรือคนใกล้ตัวอยู่ อย่าลืมว่าการใช้แปรงสีฟันเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ลองมองหาอุปกรณ์เสริมตัวอื่นๆ ติดบ้านไว้ด้วย เพราะความสะอาดของช่องปากนั้นสำคัญ สำคัญมากขนาดที่ว่าเราต้องทำกิจกรรมนี้ถึงสองครั้งในหนึ่งวัน!

Reference

https://www.thehealthy.com/dental/brushing-teeth-once-a-day/

https://www.listerine-me.com/mouth-coach/why-rinse-for-oral-health

https://dt.mahidol.ac.th/th/brochure-20190305-4/

https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/292/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%B2/

https://www.goodhousekeeping.com/home/cleaning/tips/a32797/toothbrush-storage-mistakes/

https://www.ameritasinsight.com/wellness/dental/brush-your-teeth-tongue

https://toothsurvey.webs.com/resear

คำเตือน: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม